หนังสือสัญญาจ้างแรงงาน
หนังสือสัญญาจ้างแรงงานเป็นเอกสารที่ นายจ้าง กับลูกจ้างแต่ละคนได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่านายจ้างกับลูกจ้างได้ตกลงจ้างแรงงานกันอย่างไร มีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาอย่างไร
ในปัจจุบัน ยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดบังคับให้นายจ้างกับลูกจ้างต้องทำหนังสือสัญญาจ้างแรงงานไว้ คงมีแต่บทบัญญัติของ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ที่กำหนดไว้ว่า หากนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้างงานตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าว และสัญญาจ้างแรงงานนั้นมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
ก่อนทำสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างกับลูกจ้างควรเจรจาตกลงในสาระสำคัญของการจ้างแรงาน พร้อมทั้งเงื่อนไขและเงื่อนเวลาให้ครบถ้วน ก่อนที่จะทำและลงชื่อในสัญญาจ้างแรงงาน
สัญญาจ้างแรงงานควรมีรายการดังต่อไปนี้
(1) ชื่อสัญญา (ควรระบุว่าเป็น “สัญญาจ้างแรงงาน” ไม่ควรระบุถ้อยคำอื่น เช่น “สัญญาทดลองงาน” เนื่องจากการทดลองงานเป็นเพียงเงื่อนไขการจ้างเท่านั้น)
(2) สถานที่ทำสัญญา (ควรระบุให้ชัดเจน ตั้งแต่เลขที่บ้าน ซอย ถนน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงรหัสไปรษณีย์)
(3) วันเดือนปีที่ทำสัญญา (ควรระบุวันเดือนปีที่ลงลายมือชื่อในสัญญา)
(4) ชื่อและภูมิลำเนาของคู่สัญญา (ควรระบุถ้อยคำว่าสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นสัญญาระหว่างผู้ใดซึ่งเป็นฝ่ายนายจ้างกับผู้ใดซึ่งเป็นฝ่ายลูกจ้าง สำหรับชื่อของนายจ้างนั้น หากเป็นนิติบุคคลก็ต้องระบุชื่อบุคคลที่มีอำนาจกระทำแทนนิติบุคคลนั้นไว้ด้วย หากเป็นบุคคลธรรมดาก็ระบุชื่อและชื่อสกุลให้ชัดเจน รวมทั้งคำนำหน้าชื่อที่ถูกต้องเพื่อแสดงเพศ และหากระบุถึงเลขหมายประจำตัวในบัตรประจำตัวประชาชนได้ด้วยก็จะยิ่งดี พร้อมทั้งระบุอายุ และภูมิลำเนาโดยละเอียดของนายจ้างตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนด้วย ส่วนลูกจ้างก็ระบุชื่อ ชื่อสกุล อายุ เลขหมายประจำตัวในบัตรประชาชน และภูมิลำเนาโดยละเอียดเช่นเดียวกับฝ้ายนายจ้าง)
(5) การทำงานของลูกจ้าง (ควรระบุว่าลูกจ้างตกลงทำงานในตำแหน่งใด และหรือมีหน้าที่การงานอย่างใดบ้าง)
(6) การจ่ายค่าจ้าง (ควรระบุถึงจำนวนค่าจ้างที่นายจ้างจะจ่ายให้โดยอาจจ่ายโดยถือระยะเวลาเป็นหลัก เช่น รายวัน วันละ ……… บาท หรือรายเดือน เดือนละ ………….บาท เป็นต้น หรืออาจจ่ายตามผลของงานที่ลูกจ้างทำได้ เช่น ทอผ้าได้เมตรละ ……….บาท ทำรองเท้าได้โหลละ ………….บาท เป็นตัน และระบุถึงวันที่จ่ายค่าจ้าง เช่น ทุกวันสิ้นเดือน หรือทุกวันที่ 5 และวันที่ 20 ของเดือน เป็นต้น รวมทั้งสถานที่และวิธีการจ่ายค่าจ้างด้วย เช่น รับเงินที่แผนกการเงิน หรือจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของลูกจ้าง เป็นต้น)

(7) เงื่อนไขอื่น ๆ (ควรระบุให้ครบถ้วนตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้เป็นพิเศษ) เช่น
7.1 การทดลองงาน (ควรระบุตำแหน่งหน้าที่ที่ทดลองงาน ระยะเวลาทดลองงาน และการประเมินผลการทดลองงาน)
7.2 ประเภทของการจ้าง (ควรระบุตามประเภทของการจ้างไว้ เช่น จ้างให้ทำงานตามโครงการเฉพาะ จ้างให้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว จ้างให้ทำงานที่เป็นไปตามฤดูกาล จ้างให้ทำงานตามกำหนดระยะเวลาแน่นอน จ้างให้ทำงานในหน้าที่เฉพาะกรณี (เช่น ผู้ชำระบัญชีเป็นตัน) จ้างให้ทำงานในหน้าที่พิเศษ (เช่น ที่ปรึกษา เป็นตัน))
7.3 การประกันการทำงาน (ควรระบุถึงจำนวนเงินที่ประกัน หรือวงเงินที่ประกันหากประกันด้วยทรัพย์ การเก็บรักษาเงินหรือทรัพย์ที่วางประกัน การคืนเงินหรือทรัพย์ที่วางประกันพร้อมผลประโยชน์ ซึ่งการเรียกและรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานนั้น จักต้องไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 ด้วย)
7.4 การจ้างหลังการทดลองงาน (บรรจุ) และการเลื่อนตำแหน่ง (ควรระบุถึงการจ้างหลังการทดลองงานว่าจะจ้างเมื่อใด ในตำแหน่งใด หน่วยงานใด อัตราคาจ้างเท่าใด หากมีการเลื่อนตำแหน่ง
การเลื่อนตำแหน่งจะกระทำโดยมีเงื่อนไขอย่างไร ตำแหน่งใด และเมื่อใด)
7.5 การขึ้นค่าจ้างหรือการปรับค่าจ้าง (ควรระบุถึงหลักเกณฑ์ในการขึ้นหรือปรับค่าจ้าง ระยะเวลาที่จะขึ้นหรือปรับค่าจ้าง)
7.6 สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ (ควรระบุถึงสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ทุกประเภทที่นายจ้างตกลงให้แก่ลูกจ้าง โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการให้สวัสดิการนั้นด้วย)
7.7 เงื่อนไขการทำงานอื่น (ควรระบุตามที่ตกลงกัน เช่น เรื่องวันและเวลาทำงาน วันหยุด วันลา ข้อกำหนดอันเป็นวินัยในการทำงาน และโทษทางวินัยซึ่งหากเป็นลูกจ้างทำงานในสถานประกอบกิจการที่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ก็ไม่ต้องระบุไว้ เว้นแต่นายจ้างประสงค์จะให้มีเงื่อนไขการทำงานแตกต่างจากลูกจ้างอื่นในสถานประกอบกิจการนั้น)
(8) กำหนดระยะเวลาจ้าง (ควรระบุระยะเวลาการว่าจ้างโดยมีวันเดือนปีที่เริ่มจ้างและวันเดือนปีที่สิ้นสุดการจ้าง หากเป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการว่าจ้าง ก็ให้กำหนดถึงเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญาจ้าง และระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างไว้ โดยจะต้องกำหนดให้เสมอภาค และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17)
(9) การรับรู้เข้าใจในสัญญาและจำนวนสัญญาที่คู่ความถือไว้ (โดยระบุว่าคู่สัญญาได้อ่าน ทำความเข้าใจในข้อความในสัญญาซึ่งตรงตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว และคู่สัญญาต่างถือสัญญาซึ่งมีข้อความตรงกันไว้ฝ่ายละฉบับ)
(10) ลายมือชื่อนายจ้าง ลูกจ้าง พยาน และผู้เขียนหรือพิมพ์สัญญา (โดยมีช่องให้ลงลายมือชื่อรวมทั้งมีชื่อและชื่อสกุลของผู้ที่ลงลายมือ ชื่อปรากฏอยู่ใต้ลายมือชื่อนั้นนั้น ส่วนพยานจะมีเพียงคนเดียวหรือสองคนก็ได้ สำหรับผู้เขียนหรือผู้พิมพ์สัญญาจะระบุชื่อและชื่อสกุลไว้หรือลงลายมือชื่อด้วยก็ได้)

ที่มา
http://area3.labour.go.th/2018/index.php/2015-12-03-04-55-08/153-113-2541
https://www.jobbkk.com/hrsociety/hrTipDetail/30
https://th.hrnote.asia/tips/190719-employmentstatusx/
https://www.mol.go.th/employer/employee_duty/