การกำหนดวินัย โทษทางวินัย และการใช้มาตรการทางวินัยต่อลูกจ้าง ตอนที่ 6 ลักษณะที่ดีของวินัย ต่อ
2. ให้เข้าใจ
วินัยในการทำงานในสถานประกอบกิจการหลายแห่ง บางข้อเขียนไว้กะทัดรัดจนเข้าใจได้ยาก บางข้ออ่านแล้วเกิดความเข้าใจหรือตีความแตกต่างกันทั้งระหว่างผู้ที่ต้องปฏิบัติตาม หรือระหว่างหัวหน้างานแต่ละคน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาก่อให้เกิดความลักลั่นในการปฏิบัติและการบังคับใช้
นายจ้างจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้ลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามวินัย ได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงกันทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ใดบังคับบัญชา การประชุมหารือหรือการสัมมนาหาข้อยุติ รวมทั้งการอธิบายวินัยข้อที่เข้าใจแตกต่างกัน จะช่วยให้มีการปฏิบัติตามวินัยได้ครบถ้วนยิ่งขึ้น
ข้อที่นายจ้างควรจะต้องสร้างสำนึกแก่ลูกจ้างให้ได้ก็คือ วินัยในการทำงานนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างทั้งมวลมิใช่เพียงเพื่อให้งานของนายจ้างประสบผลสำเร็จเท่านั้น
3. ให้มีการปฏิบัติตาม
นายจ้างจะต้องส่งเสริมและดำเนินการในทุกวิถีทางที่จะให้ลูกจ้างรักษาและปฏิบัติตามวินัยให้มากที่สุด
3.1 นายจ้างและฝ่ายบริหารต้องปฏิบัติตามวินัยให้เป็นตัวอย่าง ถ้านายจ้างหรือฝ่ายบริหารไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตามไม่ได้แล้ว ความหวังที่จะให้ลูกจ้างหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามวินัยได้อย่างครบถ้วนนั้นย่อมไม่มีโอกาสประสบความสมหวังได้เลย
3.2 นายจ้างจักต้องตรวจสอบดูแลให้มีการปฏิบัติตามวินัยอยู่เสมอ เมื่อใดมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวินัย ควรจะได้มีการดำเนินการอย่างเคร่งครัด การผ่อนปรนในบางครั้งบางรายจะสร้างความเคยชินให้ต้องผ่อนปรนไปเรื่อยๆ “เสมือนสายป่านว่าว ยิ่งผ่อนยาวเท่าไร ยิ่งตกท้องช้างมากขึ้นเท่านั้น”
การผ่อนปรนในบางครั้งบางรายจะสร้างตัวอย่างให้ลูกจ้างอื่นอ้างข้อยกเว้นขอผ่อนปรนบ้าง นอกจากนั้นการผ่อนปรนบ่อยครั้งจะกลายเป็นระเบียบวินัยใหม่ หรือเป็นสภาพการจ้างใหม่ซึ่งจะสร้างปัญหาให้แก่ผู้บังคับบัญชาและนายจ้างต่อไปไม่สิ้นสุด
ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่า
“ศาลฎีกาได้พิจารณาพฤติการณ์ต่างๆ ที่ศาลแรงงานกลางฟังมาประกอบทั้งโจทก์ได้ปฏิบัติ (อนุมัติสินเชื่อเบิกเงินเกินบัญชีแก่ลูกค้าโดยผิดระเบียบ) มาเป็นเวลานานถึง 3 ปีเศษ โดยจำเลยไม่เคยจะได้ตักเตือน
เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบ และคำสั่งของจำเลยในข้อที่ร้ายแรง” (ฎีกาที่ 456/2527)
“แม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะกำหนดให้พนักงานซึ่งไม่มาทำงานหรือเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานได้ จะต้องยื่นใบลาต่อจำเลยก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กรณีที่โจทก์เจ็บป่วยหรือไม่มาทำงาน โจทก์เพียงแต่ขอลาด้วยวาจาต่อหัวหน้างานและจัดหาคนมาทำงานแทนก็เป็นอันใช้ได้ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ถือเคร่งครัดตามระเบียบข้อบังคับแม้โจทก์จะปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยก็ตาม การที่โจทก์ลางาน (โดยมิได้ยื่นใบลาตามระเบียบ) ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร” (ฎีกาที่ 2223/2529)
3.3 เมื่อปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวินัย นายจ้างจักต้องดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงและลงโทษโดยเสมอหน้า แบบ “ไม่เลือกที่รัก ผลักที่ชัง” หัวหน้างานหรือผู้จัดการทุกแผนกทุกฝ่ายต้องมีมาตรฐานในการดำเนินการทางวินัยเท่าเทียมกัน หากหัวหน้างานหรือผู้จัดการแผนกดำเนินการทางวินัยแตกต่างกันก็จะสร้างความปั่นป่วนในการบังคับบัญชาให้แก่หัวหน้างานคนอื่นหรือผู้ที่มารับตำแหน่งนั้นต่อ ในที่สุดก็เกิดความสับสนวุ่นวายไปทั้งสถานประกอบกิจการ
3.4 นายจ้างควรเร่งเร้าให้ลูกจ้างซึ่งทำงานอยู่ในทุกฝ่ายทุกแผนกได้พยายามปฏิบัติตามวินัยอย่างเต็มที่ โดยวิธีลดสถิติการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวินัยลง การชี้ชวนในเชิงให้มีการแข่งขันกันระหว่างแผนกระหว่างฝ่าย หรือระหว่างโรงงาน ย่อมสร้างความกดดันต่อผู้ที่ชอบไม่ปฏิบัติตามวินัยได้อย่างมาก
3.5 หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวินัย นายจ้างหรือฝ่ายบริหารควรจักต้องพยายามค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และหาทางแก้ไขมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก สาเหตุแห่งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวินัยอาจเป็นปัญหาเฉพาะบุคคลหรือเป็นปัญหาทั้งกิจการ
กรณีที่เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล ในบางราย นายจ้างอาจกระทำได้ไม่ยากนัก เช่น ลูกจ้างบางคนมาสายเพราะบ้านเช่าอยู่ไกลที่ทำงาน ผู้บังคับบัญชาอาจช่วยจัดหาหรือเป็นธุระหาบ้านเช่าใหม่ที่ใกล้โรงงานยิ่งขึ้น หรือลูกจ้างหลายคนลางานบ่อย เพราะไม่มีคนเลี้ยงดูบุตรเป็นประจำ นายจ้างอาจจัดหาสถานที่เลี้ยงดูบุตรในโรงงาน และจัดหาคนดูแลบุตรให้ เป็นต้น
กรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายแผนกหลายสาขาหรือทั้งกิจการ นายจ้างอาจจำเป็นต้องกระทำโดยเปลี่ยนระบบการทำงานหรือใช้เครื่องมืออย่างอื่นช่วย เช่น ผู้จัดการสาขาแต่ละคนผ่อนผันและเคร่งครัดในการลงชื่อมาทำงานของลูกจ้างแตกต่างกัน บางสาขาเคร่งครัด “หากลูกจ้างมาทำงานเมื่อเวลา 08.01 นาฬิกา หรือหลังจากนั้นถือว่ามาสาย” แต่บางสาขาผ่อนผันให้มาก “จะถือว่าเป็นการมาสายก็ต่อเมื่อมาถึงที่
ทำงาน เวลา 08.11 นาฬิกา หรือสายกว่านั้น” ดังนี้ หากไม่สามารถอบรมหรือ ควบคุมให้ผู้จัดการสาขาให้ถือหลักการเดียวกันได้ (เพราะได้ผ่อนผันหรือ เคร่งครัดมาจนเคยซิน) นายจ้างก็อาจต้องใช้วิธีกำหนดให้มีการบันทึกเวลาทำงานโดยวิธีติดตั้งนาฬิกาประทับเวลาลงในบัตรเข้าทำงานแทนการลงชื่อมาทำงาน เป็นต้น
3.6 เมื่อมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวินัย นายจ้างต้องดำเนินการลงโทษ โดยพิจารณาว่าได้มีการกระทำผิดวินัยหรือไม่และมีบทลงโทษสำหรับการกระทำนั้นเพียงใด ควรลงโทษผู้กระทำนั้นในสถานใดบ้าง ซึ่งการดำเนินการให้เป็นไปตามวินัยนี้จักต้องกระทำอย่างถูกต้อง เป็นธรรมต่อลูกจ้างและสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย
