การกำหนดวินัย โทษทางวินัย และการใช้มาตรการทางวินัยต่อลูกจ้าง ตอนที่ 4
ประเภทของวินัย
วินัยในการทำงานอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ วินัยพื้นฐาน วินัยเฉพาะตำแหน่ง และวินัยเฉพาะกิจการ
วินัยพื้นฐาน หมายถึง ข้อควรประพฤติหรือข้อควรละเวันสำหรับลูกจ้างที่ดีทั่วไป ซึ่งวินัยประเภทนี้ใช้ได้กับสถานประกอบกิจการทุกประเภท เช่น
การตรงต่อเวลา (มาทำงานและเลิกงานตรงตามเวลาทำงานปกติที่กำหนดไว้)
ความซื่อสัตย์สุจริต (ไม่ยักยอกหรือลักทรัพย์ของนายจ้าง)
ความสามัดดีในหมู่คณะ (ไม่นินทาว่าร้ายหรือทะเลาะวิวาทกับเพื่อนพนักงาน)
การเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เป็นต้น
วินัยเฉพาะตำแหน่ง หมายถึง ข้อควรประพฤติหรือข้อควรละเว้นซึ่งกำหนดไว้เป็นพิเศษสำหรับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติหน้าที่หนึ่งโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติหน้าที่อื่น เช่น
ลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่เป็นพนักงานขับรถจะต้องแต่งเครื่องแบบตามที่กำหนดไว้ทุกวันที่มีการปฏิบัติงาน (ลูกจ้างอื่นไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ)
ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินจะต้องส่งเงินที่เก็บได้ทั้งหมดในแต่ละวันต่อสมุห์บัญชีภายในเวลา 17.00 นาฬิกา
ลูกจ้างซึ่งเป็นครูจะต้องไม่ดื่มสุราเมามายในที่สาธารณะแม้นอกเวลาทำงานก็ตาม เป็นต้น
วินัยเฉพาะกิจการ หมายถึง ข้อควรประพฤติหรือข้อควรละเว้นสำหรับลูกจ้างเฉพาะกิจการที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากกิจการอื่นซึ่งถ้ามีความประพฤติเช่นนั้นแล้วอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่กิจการนั้นๆ ได้ เช่น
กิจการธนาคารอาจกำหนดวินัยห้ามมิให้พนักงานธนาคารกู้เงินลูกค้า (แม้จะกู้กันเป็นส่วนตัวและกู้นอกเวลาทำงาน) ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ในคดีเรื่องหนึ่งว่า
“จำเลยเป็นธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ความประพฤติของพนักงานเป็นส่วนสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงของธนาคารจำเลย…….การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากลูกค้า โดยลูกค้าจะสมัครใจให้โจทก์กู้ยืมหรือไม่ก็ตาม
เป็นการกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงและกิจการของจำเลย ถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย…….และไม่ต้องจ่ายสินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า…….” (ฎีกาที่ 3541/2527)
