หลักกฎหมายการร้องต่อศาลขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร กับ การจดทะเบียนรับรองบุตร

หลักกฎหมายการร้องต่อศาลขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร กับ การจดทะเบียนรับรองบุตร

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก


ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน


นกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1177/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1548วรรคแรกบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้ว่าบิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็กมิใช่เพียงแต่เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาเท่านั้นดังข้อความที่บัญญัติไว้เดิมแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ประสงค์วางหลักเกณฑ์ไว้เข้มงวดกว่าเดิมนอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1548ยังได้บัญญัติถึงทางแก้ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กไม่อาจให้ความยินยอมไว้ว่า

การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรจะกระทำได้ต้องมีคำพิพากษาของศาลและให้บิดานำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2501

การที่หญิงจำเลยรับว่าบุตรของตนเกิดจากชายซึ่งเป็นโจทก์โดยโจทก์จำเลยได้เสียกันแต่มิได้จดทะเบียนสมรส เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นเหตุพอที่จะชี้ขาดให้จดทะเบียนว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของโจทก์ทีเดียว ในเมื่อฝ่ายจำเลยยังคัดค้านอยู่ จำต้องพิจารณาต่อไปว่ามีเหตุผลอย่างใดที่จะให้ศาลมีคำพิพากษาให้จดทะเบียนตามความใน ป.พ.พ.มาตรา 1527
( ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2501 )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2521

บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ถ้า) ประสงค์จะจดทะเบียนบุตรที่เกิด ก่อนสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อสำนักทะเบียนถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียนบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจะมีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลได้โดยฟ้องเด็กและมารดาร่วมกันเป็นจำเลย เมื่อปรากฏทั้งจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์และทางนำสืบว่าก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองเด็กชายโอภาสต่อนายทะเบียนหรือจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียนข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ไว้ในคำให้การและไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามศาลฎีกาก็ยกขึ้นได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปให้ความยินยอมจดทะเบียนว่าเด็กชาย อ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ มอบคืนเด็กชาย อ. แก่จำเลย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้โจทก์มอบเด็กชาย อ. คืน ให้กับจำเลยตามฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540

ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังโดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่งป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่นและสมรสใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษและไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอด การให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า

Photo by Pixabay on Pexels.com

Leave a Reply