การกำหนดวินัย โทษทางวินัย และการใช้มาตรการทางวินัยต่อลูกจ้าง ตอนที่ 13 การกำหนดโทษ ต่อ
2.การกำหนดโทษไว้ต่างหากจากวินัยและพิจารณาโทษสำหรับการกระทำผิดแต่ละครั้ง
การกำหนดโทษทางวินัยประเภทนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย คือ
ข้อดี ก็คือนายจ้างอาจกำหนดโทษให้เหมาะสมกับลูกจ้างแต่ละคนและเหมาะสมกับการกระทำผิดแต่ละครั้งได้อย่างอิสระ ลูกจ้างไม่อาจหาข้อโต้แย้งทางกฎหมายหรือฟ้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษ (ที่ไม่ถึงขั้น “เลิกจ้าง”) ได้ แม้นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างหนักเบาแตกต่างกันก็ตาม
ข้อด้อย ก็คือการลงโทษแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไม่มีมาตรฐานแน่ชัด ทำให้ลูกจ้างรู้สึกโกรธเคืองนายจ้าง เพราะลูกจ้างมักจะเห็นว่านายจ้างลงโทษตนหนักเกินไปเสมอหากสถานประกอบกิจการนั้นมีผู้บังคับบัญชาหลายคนและต่างคนก็ใช้ดุลพินิจในการลงโทษแดกต่างกันความสับสนยุ่งยากในการบริหารบุคคลก็จะยิ่งทวีขึ้น สัมพันธภาพระหว่างลูกจ้างกับผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการลงโทษจะเลวลง ซึ่งจะส่งผลไปยังประสิทธิภาพในการผลิตและบริการ รวมทั้งจะยังให้เกิดความคิดแก่ลูกจ้างในการจัดตั้งสหภาพแรงานและการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างและกำหนดโทษทางวินัยให้เหมาะสมและเป็นธรรมด้วย
นายจ้างจะต้องกำหนดโทษทางวินัยไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อได้กำหนดโทษทางวินัยไว้สำหรับความผิดใดไว้แล้ว การกำหนดโทษทางวินัยที่หนักขึ้นกว่าเดิมอาจไม่มีผลใช้บังคับ
ประกาศของนายจ้างที่กำหนดโทษทางวินัยของลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหนักขึ้นกว่าที่กำหนดไว้เดิมย่อมไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง เมื่อไม่ปรากฎว่านายจ้างได้แจ้งข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเดิมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือลูกจ้างให้ความยินยอมในการที่นายจ้างแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามประกาศดังกล่าวทั้งการที่นายจ้างปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบแล้วแม้จะไม่มีลูกจ้างคนใดคัดค้าน ก็ไม่อาจถือได้ว่าลูกจ้างให้ความยินยอมที่จะให้นายจ้างเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว นายจ้างจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงวิธีการลงโทษลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้ผิดไปจากวิธีการลงโทษเดิมได้ ประกาศกำหนดโทษทางวินัยฉบับใหม่ไม่มีผลใช้บังคับแก่บรรดาลูกจ้าง (ฎีกาที่ 1128/2544)
