แผ่นดินมีสิทธิรับมรดก แต่ไม่ถือว่าแผ่นดินเป็นทายาท
การรับมรดกของแผ่นดินเป็นการรับโดยผลของกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1753 ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน
เจ้าหนี้กองมรดกที่ตกแก่แผ่นดิน
ถ้าเจ้ามรดกมีหนี้ หนี้นั้นก็ตกทอดแก่แผ่นดิน เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับเอา จากทรัพย์มรดก แต่แผ่นดินไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์สินที่ตกทอดแก่แผ่นดินนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2508
ในเรื่องมรดกนั้นเมื่อบุคคลใดตาย ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท (ทายาทโดยธรรมผู้รับพินัยกรรม) ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมมรดกของผู้นั้นจะตกทอดแก่แผ่นดินพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ เมื่อมีการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมเป็นนิติบุคคลแล้วจึงให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นของมูลนิธินิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผลพินัยกรรมที่สั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 81 เช่น เพื่อบำเพ็ญทานการศาสนา ฯลฯ ผู้รับตามพินัยกรรมนั้นจะต้องเป็นบุคคลสามารถมีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เพราะถ้าผู้รับมิใช่บุคคล ไม่สามารถมีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินอันไม่มีเอกชนเป็นเจ้าของจะตกทอดแก่แผ่นดิน ในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่สถานที่สักการะบรรพบุรุษ (ชื่อตึ๊ง) เมื่อสถานที่สักการะบรรพบุรุษมิใช่บุคคล จึงไม่อาจเป็นผู้ทรงสิทธิเหนือทรัพย์สินได้ดังนั้น ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าในฐานะพินัยกรรมธรรมดาหรือพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531
กองมรดกซึ่งไม่มีทายาทนั้น แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดินแผ่นดิน ก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5850/2541
ซ.จำนำที่ดินให้แก่ ข.เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2458 กรณีต้องบังคับตามประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ.118 เมื่อยังไม่มีการไถ่ถอนจำนำและที่ดินยังไม่หลุดเป็นสิทธิแก่ ข.เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่า ซ.ยินยอมหรือศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ดังนั้นถ้าหาก ซ.และ ข.ยังมีชีวิตอยู่ ซ.ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนำได้ และ ข.ก็มีหน้าที่ให้ไถ่ถอนจำนำ แต่เมื่อ ซ.และ ข.ถึงแก่ความตายสิทธิและหน้าที่ของ ซ.และ ข.ซึ่งถือว่าเป็นมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1599 และ 1600 ผู้ร้องเป็นทายาท ซ. สิทธิและหน้าที่ของ ซ.ในการไถ่ถอนจำนำย่อมตกแก่ผู้ร้องด้วย เมื่อกองมรดกของ ข.ไม่มีทายาท กองมรดกของ ข.ย่อมตกแก่แผ่นดิน แต่แผ่นดินไม่ใช่ทายาทของ ข. ดังนี้ ทายาทของ ซ. ผู้จำนำจึงไม่สามารถทำการไถ่ถอนจำนำได้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกของ ข.ขึ้น และตราบใดที่กองมรดกของ ข.ยังไม่มีผู้จัดการมรดก ผู้จำนำก็ไม่มีทางไถ่ถอนจำนำได้เลย การที่ผู้ร้องจะไถ่ถอนจำนำจากกองมรดกของ ข.จึงขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกของ ข.มีผู้จัดการมรดกเสียก่อน ในกรณีนี้จึงต้องถือว่าผู้ร้องซึ่งมีสิทธิไถ่ถอนจำนำเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของ ข.ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1713
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055/2555
พินัยกรรมฉบับที่จำเลยใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. เป็นพินัยกรรมปลอม เมื่อ ม. ถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 1633 ของ ม. จึงตกทอดแก่แผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1753 นับแต่วันที่ 25 ก.พ. 2537 ซึ่งเป็นวันที่ ม. ถึงแก่ความตาย จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 รับโอนมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตามมาตรา 1305 ทั้งจำเลยที่ 2 จะครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมานานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ และจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับกระทรวงการคลังโจทก์ไม่ได้ ตามมาตรา 1306
