ทายาทในกองมรดก

มาตรา 1599  เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

มาตรา 1603 กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม
ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม”
ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม”

ทายาทโดยธรรม

มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมใช้หลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง”

ทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับนั้นไม่ได้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันหมดทุกคน เพราะหากทายาทลำดับต้นยังมีชีวิตอยู่ ก็เฉพาะแต่ทายาทลำดับนั้นเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก ทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8395/2540

ตามคำร้องขอของผู้ร้องอ้างสิทธิขอตั้งผู้จัดการมรดกเพียงว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกเพียงผู้เดียวโดยมิได้อ้างสิทธิหรือส่วนได้เสียอย่างอื่น เมื่อปรากฎตามคำร้องขอนั้นชัดแจ้งว่า เจ้ามรดกยังมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันยังมีชีวิตอยู่อีก 2 คน ซึ่งเป็นทายาทอันดับ 3ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3)ซึ่งยัง มีชีวิตอยู่ ส่วนผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดาเดียวกับเจ้ามรดกจึงเป็นทายาทอันดับ 4 ตามมาตรา 1629(4)ดังนี้ ผู้ร้องจึงถูกตัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่งและเมื่อผู้ร้องมิใช่ทายาทของเจ้ามรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 1713(1) จึงไม่อาจร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ และแม้ทายาทของเจ้ามรดกที่มีชีวิตอยู่ดังกล่าวถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถอยู่ในความอนุบาลของผู้ร้อง และทายาทนั้นไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้ และหากไม่มีผู้จัดการมรดกจะทำให้ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเกิดความเสียหายได้ก็ตามแต่เมื่อผู้ร้องอ้างสิทธิในการขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกตามมาตรา 1713(1) ชัดแจ้งอยู่แล้ว การที่จะไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องยังมีสิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิของการเป็นทายาทโดยธรรม ย่อมไม่อาจกระทำได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกคำร้องขอและนอกประเด็น จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องโดยไม่จำต้องทำการไต่สวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545

การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมายและมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หามีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องและผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกัน แม้จะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่เข้ารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นลุงของผู้ตายถือเป็นทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้รับพินัยกรรม

เป็นได้ทั้งบุคคล และ นิติบุคคล ที่เจ้ามรดกกำหนดไว้ในพินัยกรรมว่าให้รับมรดก ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติของเจ้ามรดกอยู่ก่อน เมื่อเจ้ามรดกยกให้แล้ว ทายาทโดยธรรมไม่มีสิทธิในการรับมรดกส่วนนั้น

Photo by Ylanite Koppens on Pexels.com

Leave a Reply