การขอตั้งผู้จัดการมรดก

การขอตั้งผู้จัดการมรดก

การจัดการทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตหรือเจ้ามรดกนั้น หากได้ทำพินัยกรรมไว้แล้วในพินัยกรรม อาจระบุว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก สามารถนำพินัยกรรมนั้นมาร้องขอต่อศาล เพื่อมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้

การทำพินัยกรรม เป็นนิติกรรมที่มีแบบชัดเจน ผมจะกล่าวถึงในบทความครั้งต่อไปแต่ครั้งนี้จะพูดถึงกรณีที่เจ้ามรดกเสียชีวิตแล้ว ไม่ได้มีพินัยกรรม ทายาทต้องร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

กระบวนการตั้งผู้จัดการมรดก และการร้องขอต่อศาลไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีค่าใช้จ่ายมาก สามารถให้ทนายความดำเนินการได้ บางกรณีถ้าไม่มีผู้คัดค้าน อาจดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลให้เสร็จภายในวันเดียว

หากไม่ตั้งผู้จัดการมรดก ทรัพย์มรดกจะไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆได้ เช่น บัญชีในธนาคาร โฉนดที่ดินทะเบียนรถก็ ไม่สามารถจัดการได้

ขอทำความเข้าใจกันก่อนว่าผู้จัดการมรดก ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์มรดก เป็นเพียงผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทน เจ้ามรดกในการแบ่งทรัพย์สิน โอนทรัพย์สิน จดทะเบียน กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กล่าวถึงสิทธิของการรับมรดก โดยทายาทนี้เรียกว่า ทายาทโดยธรรมใน มาตราที่ 1629 กล่าวถึงทายาทโดยธรรม 6 ลําดับดังนี้

ลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดาน
ลำดับที่ 2 บิดามารดา
ลำดับที่ 3 พี่ น้อง ร่วมบิดามารดาเดียวกัน
ลำดับที่ 4 พี่ น้องร่วมบิดาหรือ มารดาเดียวกัน
ลำดับที่ 5 ปู่ย่าตายาย
ลำดับที่ 6 ลุงป้าน้าอา

หมายความว่าถ้าลำดับที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ก็มรดกก็ตกอยู่กับผู้ที่อยู่ลำดับที่ 1 จะตัดลำดับที่ 2 ไปเลยทันที

จะสังเกตว่าไม่มีสามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายในลำดับของทายาทโดยธรรมเพราะเมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่ง จะถูกแบ่งให้กับสามีหรือภรรยา ทรัพย์มรดกที่เหลือจึงถูกแบ่งให้กับทายาทตามลำดับ

อาจจะมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเช่นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอ้าว่า ทรัพย์มรดก ตกอยู่กับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ไม่ได้ตกอยู่กับผู้สืบสันดาน และ บิดามารดาได้เสียชีวิตแล้ว การอ้างเช่นนั้นไม่สามารถอ้างได้ เพราะยังมีผู้สืบสันดานของเจ้าเจ้ามรดกอยู่ จึงตัดลำดับถัดไปทันที

นี่คือการแบ่งทรัพย์มรดกอย่างคร่าวๆในรายละเอียดสามารถปรึกษาทนายความได้ครับ

สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อร้องขอต่อศาลเพื่อเป็นผู้จัดการมรดกมีดังนี้

บัญชีทรัพย์ว่ามีทรัพย์สินใดๆที่เป็นชื่อของเจ้ามรดกบ้าง
หนังสือให้ความยินยอมจากทายาททุกคนว่ายินยอมให้บุคคลนั้นเป็นผู้จัดการมรดก
หลักฐานทางทะเบียนราษฎร ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนตัวจริง มรณะบัตร ของเจ้ามรดก และ
หลักฐานทางทะเบียนของผู้จัดการมรดกด้วย

เมื่อเตรียมหลักฐานดังกล่าวแล้วสามารถติดต่อทนายความให้เขียนคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก(ไม่มีพินัยกรรม) ค่าธรรมเนียมศาลในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเพียง 200 บาท เพราะเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทแต่หากมีผู้คัดค้าน กระบวนการจะซับซ้อนกว่านี้ ผมขอกล่าวถึงกรณีไม่มีผู้คัดค้านก่อนนะครับ

หลังจากทนายความยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ในวันที่ยื่นคำร้อง ได้วันนัดในวันนั้นเลยว่าจะมาศาลวันไหนเพื่อมาไต่สวน คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

ทนายความจะแจ้งให้ทราบว่า ต้องมาศาลวันใด ต้องมีพยานเป็นใครบ้าง มาเบิกความต่อศาล

เมื่อถึงวันนัดให้แต่งกายสุภาพมาที่ศาล ทนายจะแจ้งว่าให้ไปไต่สวนที่บัลลังก์ไหนบัลลังก์ หมายถึงที่ที่ผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดี ในแต่ละศาลหากเป็นศาลขนาดใหญ่ จะมีบัลลังก์หลายๆห้อง ศาลขนาดเล็กจะมีบัลลังก์ไม่มาก

สามารถดูบรรยากาศในศาลในศาลจำลอง ในคลิปนี้ครับ https://youtu.be/XtLcx9rYezA?t=604

เมื่อเราไปถึงจะมีคดีอื่นนั่งรออยู่แล้ว ศาลป็นที่สาธารณะ การไต่สวนคดี การพิจารณาคดี ทำอย่างเปิดเผยหมายความว่า ศาลจะไม่พิจารณาคดีเราคนเดียว จะมีคดีอื่นก่อนหน้าเราหรือต่อจากเรา

อย่าตกใจเมื่อเปิดประตูห้องเข้าไปแล้วพบว่ามีคนนั่งอยู่เต็มไปหมด เมื่ออยู่ในห้องพิจารณาคดี ไม่เล่นมือถือ ไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่กอดอก ไม่คุยกันเสียงดัง เพราะทุกฝ่ายต้องใช้สมาธิในการทำงาน อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน

เมื่อถึงคิวของเรา ทนายความจะให้เรา ไปที่คอกพยาน คอกพยานอยู่ตรงกลางศาลพอดี จะเป็นที่ให้เราเข้าไปนั่งเราจะต้องสาบานตน ตามศาสนาของเรา

การสาบานตน เป็นหนึ่งในกระบวนการพิจารณาความ บางคนที่ไม่คุ้นเคยอาจจะดูแปลกๆ เราต้องสาบานตนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ เราเคารพนับถือ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามจังหวัดนั้นๆ เช่นเชียงใหม่ก็จะสาบานตนกับพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดลำพูนก็จะสาบานตนกลับ พระนางจามเทวี กรุงเทพฯก็สาบานตนกับพระแก้วมรกต ว่าเราจะกล่าวความจริงหากกล่าวความเท็จ ก็จะมีความวิบัติแก่เราหากกล่าวความจริง ก็จะให้เราและครอบครัวเจริญรุ่งเรือง สำหรับคนที่นับถือศาสนาอิสลาม และ ศาสนาคริสต์จะมีคำสาบานตนที่แตกต่างออกไปไม่ต้องกังวลครับ

หลังจากสาบานตนเสร็จ ทนายความจะถามคำถามเรา เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา กับเจ้ามรดกสาเหตุที่เรายื่นคำขอต่อศาล และความสามารถของเรา ในการเป็นผู้จัดการมรดก ว่าเรามีสติสัมปชัญญะครบถ้วนไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ หรือ บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

อาจจะมีพยานปากอื่น ที่ต้องไปเบิกความด้วยเราก็หลังจากเบิกความเสร็จ ก็มานั่งรอจนกว่าจะเบิกความครบทุกปาก จากนั้นทนายความจะบอกว่า ทุกอย่างเรียบร้อยแล้วให้เรากลับบ้าน

ศาลอาจจะมีคำสั่งในวันนั้นเลย ให้เป็นผู้จัดการมรดกแต่อาจจะต้องรอ หนังสือรับรองคดีถึงที่สุดด้วยเพราะบางหน่วยงาน อาจต้องใช้เอกสารทั้ง 2 ฉบับ แนบกันไปเพราะ เขาคงกลัวว่าอาจจะมีคนคัดค้านแล้วผู้จัดการมรดก แอบมาจัดการโดยไม่รอให้คดีถึงที่สุดก่อน ขบวนการรออาจจะกินเวลา 30 ถึง 45 วัน

ไม่มีระยะเวลากำหนดว่า ผู้จัดการมรดกต้องจัดการมรดกให้เสร็จเมื่อไหร่ แต่ถ้าจัดการไปแล้วมีการโอนไปแล้วผู้ที่ประสงค์จะคัดค้าน ต้องคัดค้านภายใน 1 ปีนี้เช่นนั้นจะหมดอายุความ

พูดถึงสิ่งสุดท้ายที่อาจจะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ในเกณฑ์ค่าวิชาชีพของทนายความ ผมบอกเลยว่าหากทรัพย์มรดกมีไม่เยอะ ไม่มีผู้คัดค้าน กระบวนการไม่ซับซ้อนค่าวิชาชีพไม่แพงมาก สามารถคุยกับทนายความได้ หรือ อาจจะขอผ่อนชำระเป็นงวดงวดโดยชำระเงินสดก่อน ในงวดแรกหลังจากนั้นเมื่อขึ้นศาลก็อาจชำระงวดที่เหลือได้

ขอให้เรามาศาลด้วยมือที่สะอาด ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ครับ หากแบ่งทรัพย์มรดกได้ลงตัวแล้วหมดภารกิจแล้วทุกฝ่ายยินดีแล้ว จะเป็นเรื่องที่ดีครับ ทรัพย์สมบัติทางโลกเมื่อเราเสียชีวิตไป ก็นำติดตัวเราไม่ได้สิ่งที่จะติดตัวเราได้นั้น มีเพียงความที่เราทำไว้ในโลกนี้ และ ชื่อเสียงที่เราฝากไว้ให้กับคนที่ยังอยู่กับเราขอฝากไว้เป็นหลักธรรมประจำใจ หากเรามีเจตนาดีเจตนาที่บริสุทธิ์แล้ว ผลที่ออกมาย่อมดีเช่นกันครับ

Photo by Andrea Piacquadio on Pexels.com

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s