คู่มือเจ้าหนี้ บทที่ 4 การฟ้องคดีต่อศาล

คู่มือเจ้าหนี้ บทที่ 4 การฟ้องคดีต่อศาล


เมื่อไม่สามารถทวงถามกันได้ ก็จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล บทนี้ผมจะมาเรียบเรียงให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะต้องจัดการอย่างไร มีกระบวนการทางศาลอย่างไร
แน่นอนว่าจะต้องติดต่อทนายความเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีครับ หลายท่านอาจจะทราบว่ากู้ยืมเงินเป็นคดีแพ่ง แต่บางกรณีก็สามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้


ค่าทนายความส่วนใหญ่ทนายจะคิดค่าทนายจาก ทุนทรัพย์ที่จะฟ้องร้องค่าทนายนี่แล้วแต่ทนายแต่ละคนจะคิดค่าวิชาชีพกันเลยครับ แต่บางสำนักงานจะคิดค่าทนายคดีแพ่งที่ ร้อยละห้า ถึงร้อยละสิบของทุนทรัพย์ ส่วนคดีอาญานี่จะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละคดี
ผมมานั่งคิดว่า การที่เจ้าหนี้จะดำเนินคดีเอง โดยไม่ต้องจ้างทนายนั้น ที่จริงค่อนข้างลำบาก เพราะการร่างคำฟ้องอย่างไรให้ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม หรือ การถามพยาน การถามค้านในกระบวนการพิจารณาคดี ไหนจะกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน แม้แต่นักศึกษานิติศาลตร์ ที่ยังไม่ได้ใบอนุญาตทนายความยัง หนักใจเวลาจะร่างคำฟ้อง หรือขึ้นศาล คิดดูนะครับปีหนึ่งมีคนสอบใบอนุญาตทนายความ เป็นหมื่นยังผ่านไม่ถึงครึ่ง ดังนั้นท่านเจ้าหนี้ควรจะมีทนายความ ที่ท่านไว้ใจได้ และราคาอยู่ในงบประมาณของท่าน

ก่อนที่จะฟ้องคดีแพ่งหรืออาญานั้น ผมมีหลักสังเกตง่ายๆ แบบนี้ครับ


o ถ้าลูกหนี้มีเจตนาจะไม่จ่ายตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นคดีอาญาฐานฉ้อโกง
o ถ้าลูกหนี้มีเจตนาจ่ายจริง ไม่ได้บอกกล่าวความเท็จตั้งแต่ต้น แต่เพียงว่าภายหลังไม่สามารถชำระได้ เป็นเพียงผิดสัยาทางแพ่ง
o ความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งความผิดอันยอมความได้นั้น ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์หรือฟ้องร้องเสียภายใน สามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งวันที่รู้เรื่องความผิดนั้นก็คือ วันที่ท่านทราบว่าลูกหนี้ของท่านมีเจตนาที่จะไม่คืนเงินให้แก่ท่านตั้งแต่แรกแล้วนั่นเอง
o ดังนั้นหากท่านมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องร้องคดีดังกล่าวเสียภายในสามเดือน คดีก็เป็นอันขาดอายุความ หาอาจจะดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาได้ไม่


คดีแพ่ง
ก่อนพบทนายให้เตรียมเอกสารไปให้พร้อม นะครับอย่างที่ผมนำเรียนท่านเจ้าหนี้ในบทที่แล้ว ทนายความจะสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และออกหนังสือติดตามทวงถาม หรือ โนติส
เนื้อใหญ่ใจความของโนติส ก็จะแจ้งลูกนี้ว่า สัญญาที่ตกลงกันไว้คืออะไร ครบกำหนดชำระเมื่อไหร่ จำนวนหนี้ปัจจุบันพร้อมดอกเบี้ยเท่าไหร่ และให้ระยะเวลาลูกหนี้กี่วันในการชำระหนี้ หากไม่ชำระจะต้องถูกดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
พอครบกำหนดที่ให้ไว้ในหนังสือติดตามทวงถามแล้ว หากไม่ชำระทนายความก็จะฟ้องเป็นคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจครับ
ก่อนมาทำคดีผมก็คิดว่า ลูกหนี้เมื่อได้หนังสือทวงถามก็คงไม่มีใครมาจ่าย แต่พอได้มาทำงานจริงๆ พอเราส่งหนังสือทวงถามไป มีตอบกับมาก็เยอะ ว่าขอเจรจา ขอประณีประณอมยอมความ บางกรณีลูกหนี้รีบเอาเงินมาคืน
ผมมีครั้งหนึ่งที่ทนายของลูกหนี้โทรมาบอกว่าให้เข้ามาหาที่สำนักงาน อยากจะเจรจาเรื่องการชำระหนี้ ผมก็เอาไงล่ะทีนี้ พอดีรู้จักน้องเสมียนทนายคนหนึ่ง เป็นทหารเก่า ผิวเข้มกล้ามใหญ่ เลยบอกน้องว่าไปกับพี่หน่อยจะได้อุ่นใจ แต่พอไปจริงๆ ทนายเค้าก็คุยดีๆกัน แถมพอคุยเรื่องคดีกันจบก็ยังชวนคุนเรื่องสัพเพเหระ จนบอกว่าถ้าผ่านมาทาง สำนักงานก็แวะมาทักทายกันบ้าง
เมื่อทนายความฟ้องร้องคดีต่อศาล ก็จะได้วันนัดก็แล้วแต่มูลหนี้เราว่าทุนทรัพย์เท่าไหร่ เพราะทุนทรัพย์มากน้อย วิธีพิจารณาความจะคนละแบบ
เอาเป็นว่าจะไม่เจาะลึกนะครับ แต่จะมีนัดไกล่เกลี่ย ก็คือคู่ความทั้งสองฝ่ายก็มาคุยกัน โดยทางศาลจะมีผู้ประณอมของศาลมารับฟังปัญหา และหาทางแก้ร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างยอมถอยคนละก้าว และถ้าตกลงกันได้ก็จะมีการตกลงทำเอกสารที่เรียกว่า สัญญาประณีประณอมยอมความหรือเรียกสั้นๆ ว่าสัญญายอม
หลังจากตกลงกันได้ก็สามารถให้ศาลออกคำพิพากษาตามยอม ได้เลยและสามารถบังคับคดีต่อกันได้
หากตกลงกันไม่ได้ก็ต้องมีการสืบพยานกัน และศาลก็จะมีคำพิพากษาหลังจากนั้น หากลูกหนี้ไม่จ่ายเงินก็เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ผมจะนำเรียนอย่างละเอียดต่อไปครับ

คดีอาญาฐานฉ้อโกง
จากหลักกฎหมายผู้ที่จะกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้นั้นจะต้องกระทำครบองค์ประกอบของความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้


• ผู้นั้นจะต้องกระทำโดยทุจริต กล่าวคือ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และ
• มีเจตนาที่จะหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และผลจากการหลอกลวงนั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
หากมีมีเจตนาที่จะไม่คืนเงินที่ยืมตั้งแต่แรก ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
เช่น บอกว่า “ถ้าอยากได้เงินคืนก็ต้องแจ้งความหรือฟ้องศาลแพ่งเอง เพราะไม่มีสัญญากู้ยืมเงินเป็นหลักฐานและไม่สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้”
มีพฤติการณ์ที่จะหลอกลวงโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ

เช่น ลูกหนี้บอกกับท่านว่าจะนำเงินไปใช้ในการรักษาพยาบาลแม่ของตนจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งความจริงแล้วหาได้นำเงินไปใช้อย่างที่บอกกับท่านแต่อย่างใดไม่
โดยพฤติการณ์ดังกล่าวเนื่องจากท่านไม่ได้มีอาชีพในการปล่อยเงินกู้มาก่อน ดังนั้นข้อความดังกล่าวจึงถือได้ว่า มีพฤติการณ์ที่จะหลอกลวงโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแล้ว
การหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หากการกล่าวข้อความเท็จดังกล่าวทำให้ท่านหลงเชื่อและยินยอมให้ยืมเงินจำนวนดังกล่าว ดังนั้นจึงถือได้ว่าเข้าองค์ประกอบความผิดในข้อนี้แล้ว
กระบวนการฟ้องอาญาของไทยเรามีสองช่องทางครับ
ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ช่องทางนี้เจ้าหนี้ จะต้องพบพนักงานสอบสวน ให้ตำรวจทำสำนวน ส่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีอาญากันไป
ราษฎรฟ้องคดีเอง ช่องทางนี้ทนายความก็ร่างคำฟ้อง แล้วศาลจะออกหมายเรียกจำลยมา ไต่สวนมูลฟ้อง หลังจากไต่สวนแล้ว หากศาลเห็นว่าคดีมีมูลก็มีประทับรับฟ้องเป็นคดีอาญา

ท่านผู้อ่านสามารถดาวน์โหลด คู่มือเจ้าหนี้ ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ครับ

https://66lawyer.wordpress.com/2021/02/12/creditor-handbook/

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s