การกำหนดวินัย โทษทางวินัย และการใช้มาตรการทางวินัยต่อลูกจ้าง ตอนที่ 12
การกำหนดโทษ
ระบบการกำหนดโทษทางวินัยที่นิยมปฏิบัติกันมีอยู่สองประเภท คือ
1. การกำหนดโทษควบคู่ไปกับวินัยแต่ละข้อและการกระทำผิดแต่ละครั้ง
ตัวอย่าง เช่น
ลักษณะของความผิด
การมาทำงาน มาสาย
การพิจารณาโทษ
ครั้งที่ 1 ตักเตือนด้วยวาจา
ครั้งที่ 2 ตักเตือนเป็นหนังสือ
ครั้งที่ 3 พักงาน 3 วัน และตักเตือนเป็นหนังสือ
ครั้งที่ 4 เลิกจ้าง
การกำหนดโทษทางวินัยประเภทนี้คล้ายกับบทบัญญัติที่กำหนดความผิดต่างๆ ในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งกล่าวถึงองค์ประกอบของความผิดฐานความผิด และโทษที่ผู้กระทำผิดจะได้รับพร้อมกันไปในมาตราเดียวกัน ความแตกต่างอยู่ที่ว่าประมวลกฎหมายอาญากำหนด
โทษขั้นสูงและขั้นต่ำไว้ให้ผู้พิพากษาได้ใช้ดุลพินิจกำหนดให้เหมาะสมกับผู้กระทำความผิดแต่ละคนและให้เหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิดแต่ละครั้ง ฯลฯ แต่โทษที่กำหนดควบคู่กันไปกับวินัยในการทำงานนั้นมักจะมีลักษณะแน่นอนตายตัว
การกำหนดโทษทางวินัยประเภทนี้มีทั้งข้อดีและข้อด้อย
ข้อดี ก็คือลูกจ้างที่กระทำผิดวินัยทุกคนจะทราบว่าตนจะได้รับโทษอย่างใดในทันทีที่เปิดดูข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และลูกจ้างอาจจะทราบล่วงหน้าถึงโทษที่จะได้รับก่อนที่ตนจะกระทำผิดด้วย ดังนั้น เมื่อ
มีการลงโทษทางวินัย ลูกจ้างที่ได้รับโทษทางวินัยจึงไม่รู้สึกโกรธเคืองผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างว่าลงโทษรุนแรงเกินไป ลงโทษโดยใช้อารมณ์ หรือลงโทษโดยลำเอียง เพราะการลงโทษกรณีเช่นนี้เป็นการลงโทษตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่ชัดเป็นที่รู้ทั่วกันแล้ว ซึ่งถ้าลูกจ้างเป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษเองก็จะต้องลงโทษเช่นนั้น
นอกจากนั้น การกำหนดโทษทางวินัยโดยมีอัตราโทษแน่นอนและมีลำดับขั้นตอนนั้น จะช่วยให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการลงโทษเกิดความสะดวกใจในการลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาแต่ละคนเกือบไม่ต้องใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษแต่อย่างใด ลูกจ้างได้รับความเสมอภาคในการรับโทษทางวินัยเท่าเทียมกันทั้งสถานประกอบกิจการ
ข้อด้อย ก็คือโทษที่กำหนดไว้สำหรับวินัยแต่ละข้อนั้น มีลักษณะตายตัวไม่อาจปรับให้เหมาะสมกับผู้กระทำความผิดแต่ละคนและเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิดแต่ละครั้งได้ บางครั้งจะเห็นว่าโทษที่กำหนดไว้นั้นเบาเกินไปสำหรับการกระทำผิดของลูกจ้างคนหนึ่ง และบางครั้งอาจจะเห็นว่าหนักเกินไปสำหรับลูกจ้างอีกคนหนึ่ง เช่น นายจ้างกำหนดโทษ “ฐานหลับระหว่างปฏิบัติหน้าที่” ไว้ว่าสำหรับการกระทำความผิดครั้งแรกให้ลงโทษ “ตักเตือนเป็นหนังสือ” ซึ่งหากพิจารณาโดยทั่วไปแล้ว ก็จะเห็นว่าโทษดังกล่าวเหมาะสมที่สุด แต่จะรู้สึกได้ทันทีว่าโทษดังกล่าวนั้นเบาเกินไปสำหรับลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่เฝ้าดูแลเตาเผาเซรามิกหลับไปในระหว่างทำงานเป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมง ทำให้เซรามิกในเตาเสีย
หาย 40,000 แผ่น และสูญเสียเชื้อเพลิงไปเป็นจำนวนมาก และตรงกันข้ามจะเห็นได้ชัดแจ้งว่า โทษดังกล่าวนั้นน่าจะหนักเกินไปสำหรับเสมียนซึ่งกำลังว่างงานโงกหลับไปเพียง 30 วินาที เป็นตัน
นอกจากนั้น การกำหนดโทษไว้แน่นอนตายตัวในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น จะทำให้นายจ้างไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงบทหรือขั้นตอนในการกำหนดโทษทางวินัยได้สะดวก เพราะหากแก้ไขปรับปรุงแล้วลูกจ้างจะได้รับโทษหนักขึ้นกว่าเดิม ลูกจ้างก็อาจจะฟ้องขอให้เพิกถอนข้อบังคับเกี่ยวกับโทษทางวินัยที่แก้ไขนั้น โดยอ้างว่าเป็นการผิดสัญญาหรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ลูกจ้างไม่ยินยอมและไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง และถ้าเมื่อใดนายจ้างลงโทษหนักไปกว่าโทษที่กำหนดไว้เดิม ลูกจ้างก็มักจะฟ้องร้องให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษนั้น ซึ่งสร้างภาระให้แก่นายจ้างที่จะต้องสู้คดีต่อไป
