การกำหนดวินัย โทษทางวินัย และการใช้มาตรการทางวินัยต่อลูกจ้าง ตอนที่ 3
วิธีการกำหนดวินัย
การกำหนดวินัยในการทำงานนั้น นายจ้างอาจกำหนดไว้ล่วงหน้า หรือกำหนดขึ้นภายหลังก็ได้
การกำหนดไว้ล่วงหน้า หมายถึงกรณีที่นายจ้างได้กำหนดวินัยในการทำงานไว้แต่แรกเมื่อเริ่มก่อตั้งสถานประกอบกิจการนั้น โดยคาดการณ์ว่า มีความประพฤติหรือการกระทำใดที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่สถานประกอบกิจการนั้นบ้าง แล้วก็นำเอาความประพฤติและการกระทำนั้นมากำหนดเป็นข้อห้ามประพฤติไว้ และพิจารณาว่ามีข้อควรปฏิบัติใคที่จะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย เกิดความปลอดภัยในการทำงาน หรือจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ก็นำมากำหนดเป็นข้อต้องปฏิบัติไว้ โดยถือว่าข้อห้ามและข้อต้องปฏิบัตินั้นเป็น “วินัยในการทำงาน”
การกำหนดขึ้นภายหลัง หมายถึงกรณีที่นายจ้างเห็นว่าความประพฤติหรือการกระทำใดที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถานประกอบกิจการนั้นมาแล้ว เพื่อป้องกันมิให้พฤติกรรมหรือการกระทำนั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก นายจ้างก็จะกำหนดข้อห้ามและข้อต้องปฏิบัติเป็นวินัยในการทำงานเพิ่มขึ้น
การกำหนดวินัยในการทำงานขึ้นใหม่นี้ ถ้าสถานประกอบกิจการนั้นไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องวินัยและโทษทางวินัยที่เกิดขึ้น จากการแจ้งข้อเรียกร้องมาก่อน นายจ้างย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมวินัยที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้ แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ด้วย แต่ก็มิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากข้อเรียกร้องนายจ้างมีสิทธิที่จะแก้ไข เพิ่มเติมวินัยและโทษทางวินัยให้เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายได้ (ฎีกาที่ 4208/2530)
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม กำหนดให้พนักงานที่กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสองครั้งแรกถูกลงโทษเพียงได้รับหนังสือเตือนเท่านั้น ความผิดครั้งที่สามจึงจะถูกลงโทษพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ต่อมานายจ้างได้ออกประกาศกำหนดโทษทางวินัยใหม่ว่า พนักงานที่ได้รับใบเตือนครั้งแรกจะถูกลดเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ทันที ประกาศดังกล่าวกำหนดโทษทางวินัยลูกจ้างหนักขึ้นกว่าที่กำหนดไว้เดิมในคู่มือพนักงานย่อมไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า เมื่อนายจ้างมิได้แจ้งข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเดิข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือลูกจ้างให้ความยินยอม ในการที่นายจ้างแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมได้ประกาศกำหนดโทษทางวินัยใหม่จึงไม่มีผลใช้บังคับกับบรรดาลูกจ้าง นายจ้างไม่มีอำนาจลดเงินเดือนลูกจงตามประกาศได้ ต้องคืนเงินที่ลดแก่ลูกจ้าง (ฎีกาที่ 1128/2544)
