การกำหนดวินัย โทษทางวินัย และการใช้มาตรการทางวินัยต่อลูกจ้าง ตอนที่ 2
อำนาจในการกำหนดวินัย
ในสถานประกอบกิจการที่มีการจ้างแรงงาน ผู้ที่มีอำนาจกำหนดวินัยในการทำงานก็คือ “นายจ้าง” ซึ่งหมายถึง เจ้าของสถานประกอบกิจการ หรือในกรณีที่สถานประกอบกิจการนั้นเป็นนิติบุคคลก็หมายถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทน
กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานหลายฉบับได้รับรองสิทธิอำนาจของนายจ้างในการกำหนด “วินัยในการทำงาน” ไว้ด้วย เช่น
- ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ นายจ้างจะไล่ออกโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583)
- นายจ้างมีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานขึ้นและประกาศใช้บังคับแก่ลูกจ้างได้ ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะต้องมีรายการอย่างน้อย 8 ข้อ รวมทั้งเรื่องวินัยและโทษทางวินัยด้วย และถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรง ถ้านายจ้างได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว นายจ้างย่อมเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ หรือถ้าหากเป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างก็เลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องตักเตือน และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (ฎีกาที่ 2171 /2542, 3831/2542 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 108, 119)
- ลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง นายจ้างอาจเลิกจ้างได้แม้จะอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองพิเศษ คือ ในระหว่างการเจรจา การไกลเกลี่ย
หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน และในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ (พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 และมาตรา 123) - การเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำผิด (ต่อกฎหมายหรือวินัยข้อใด) ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม นายจ้างอาจต้องรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไป หรืออาจต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง (ฎีกาที่ 2949/2523, 1347/2525, 2578/2537, 5324/2538, 8706/2543 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49)
