การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร (4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2498
ทายาทตามพินัยกรรม หลอกลวงให้ผู้ทำพินัยกรรมทำใบมอบอำนาจให้แล้วเอาไปจัดการโอนที่ดินที่ตนจะได้รับตามพินัยกรรมเป็นของตนเสีย กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการฉ้อฉลให้เจ้ามรดกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมผู้นั้นจึงมิต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2536
คำฟ้องโจทก์แม้จะมีข้อความว่าพินัยกรรมปลอม แต่ก็มีข้อความต่อไปซึ่งเป็นการอธิบายว่าพินัยกรรมทำขึ้นขณะเจ้ามรดกมีอายุ94 ปี ไม่มีสติรู้สึกผิดชอบ หลงลืมและฟั่นเฟือน ไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้แล้ว และไม่ทำตามแบบจึงตกเป็นโมฆะ หรือเสียเปล่ามิใช่คำฟ้องหลายนัยขัดกัน คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยฉ้อฉลให้เจ้ามรดกทำพินัยกรรมแต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าเป็นเช่นนั้น คงมีพยานปากหนึ่งอ้างว่า ผ่านไปเห็นการทำพินัยกรรมโดยบังเอิญ ขณะเห็นก็ยังไม่ทราบว่าที่บ้านจำเลยทำอะไรกัน และพยานปากนี้ก็ไม่ได้ระบุว่าจำเลยฉ้อฉลเจ้ามรดกในการทำพินัยกรรมแต่อย่างใด เช่นนี้พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า จำเลยได้ฉ้อฉลเจ้ามรดกให้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(4) การที่พินัยกรรมระบุว่า ทรัพย์สินส่วนที่เหลือจากที่ได้ดำเนินการตามข้อ 2 รวมทั้งทรัพย์สินอื่นซึ่งมีภายหลังจากที่ได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ทั้งหมดขอแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่ากันและยกให้ผู้รับพินัยกรรมนั้น เป็นการระบุให้ทรัพย์สินอื่นที่ได้มาภายหลังทำพินัยกรรมให้เอามาแบ่งแก่ผู้รับพินัยกรรมฉบับนี้ จึงไม่รวมที่ดินพิพาทซึ่งเจ้ามรดกทราบว่าตนมีสิทธิก่อนทำพินัยกรรมและไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนเช่นเดียวกับทรัพย์รายอื่น ๆดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำผลประโยชน์จากทรัพย์มรดกเป็นเงินเดือนละ 2,500 บาท ชำระแก่โจทก์นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเป็นต้นไปจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น โจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้ กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องฎีกาในประเด็นนี้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2540
ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่เพราะสามารถลงลายมือชื่อตามที่ น. บอกให้ลงลายมือชื่อได้ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรมกับเอกสารอื่นที่ผู้ตายเคยลงลายมือชื่อไว้แล้วมีลักษณะลีลาการเขียนอย่างเดียวกันเพียงแต่อักษรตัวใหญ่กว่าเท่านั้น จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่ออย่างมีสติ พินัยกรรมมีเพียงหน้าเดียวเป็นตัวพิมพ์มีข้อความด้านบนระบุว่าพินัยกรรมทั้งในช่องที่ผู้ตายลงลายมือชื่อนั้นก็พิมพ์ข้อความว่า ผู้ทำพินัยกรรม ไว้ ผู้ตายต้องใช้เวลาในการลงลายมือชื่อถึงครึ่งชั่วโมง โดย น. บอกให้เขียนทีละตัว เชื่อว่าผู้ตายน่าจะเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ดังนั้น การลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม ส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริงและ วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตาม วัน เดือน ปีที่แท้จริงนั้นข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อ แม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605
