ผู้ที่จะมาเป็นพยานศาล คือ ใครผู้ที่เป็นพยานศาล หมายถึง ผู้ที่ได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน หรือได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จะเบิกความโดยตรง ซึ่งพยานจะต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามได้
1. เมื่อได้รับหมายเรียกเป็นพยานแล้วจะต้องทำอย่างไร?
เมื่อได้รับหมายเรียกให้มาเป็นพยานศาลแล้ว โปรดอย่าตกใจ ! ควรจะทำดังนี้
1.1 ตรวจหมายเสียก่อน โดยตรวจดูรายละเอียดในหมายเรียกว่าหมายเรียกถึงใคร ศาลใดออกหมาย ศาลนั้นอยู่ที่ไหน เพราะในกรุงเทพมหานครหรือในบางจังหวัดมีด้วยกันหลายศาล จะได้ไปไม่ผิดศาลและไม่เสียเวลาหาหากไม่รู้ว่าศาลนั้นตั้งอยู่ที่ไหน ให้โทรศัพท์สอบถามได้จากประชาสัมพันธ์ศาลตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้ในหมายเรียกนั้น
1.2 ตรวจดูในหมายเรียกว่า ศาลนัดให้ไปเบิกความเป็นพยานในวัน เดือน ปีใด เวลาใด โดยปกติศาลจะนัดเช้า เวลา 8.30 นาฬิกา หรือนัดบ่ายเวลา 13.30 นาฬิกา
1.3 หากพยานอยู่นอกเขตอำนาจศาลที่หมายเรียก พยานไม่ต้องเดินทางไปศาลที่ออกหมายเรียก เพราะศาลจะส่งประเด็นไปสืบพยานยังศาลที่พยานมีภูมิลำเนาอยู่ เว้นแต่พยานเต็มใจที่จะไปเบิกความที่ศาลที่ออกหมายเรียกดังกล่าว
2. เมื่อพยานต้องไปศาล พยานจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
ในหมายเรียกจะมีระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเป็นโจทก์ ผู้ใดเป็นจำเลย พยานควรเตรียมตัวให้พร้อมโดยรื้อฟื้นความจำว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับคู่ความในคดีนั้นอย่างไร เมื่อถูกทนายความซักถามจะสามารถตอบได้ตรงคำถาม ไม่เสียเวลา
3. แล้วจะไปศาลในช่วงเวลาใด?
ต้องไปศาลตรงตามเวลานัด หากถึงเวลานัดแล้วพยานยังไม่ไปศาล การสืบพยานไม่พร้อม ศาลอาจจะมีคำสั่งตัดพยานไป หรือเลื่อนเป็นวันอื่น พยานจะต้องไปศาลใหม่ ทำให้เสียเวลามากยิ่งขึ้น และการไปศาลขอให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อย ไม่พกพาอาวุธ ไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาและนำสิ่งเสพติดเข้าไป มิฉะนั้นอาจจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
4. หากไปศาลไม่ได้ ควรทำอย่างไร ?
พยานที่ได้รับหมายเรียกแล้ว หากมีความจำเป็นเพราะเจ็บป่วยหรือมีเหตุขัดข้องจำเป็นประการอื่น ควรรีบแจ้งให้ศาลทราบเสียก่อนวันนัด โดยแจ้งเป็นหนังสืออาจมอบฉันทะให้ผู้อื่นไปแจ้งให้ศาลทราบก็ได้ มิฉะนั้นจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และศาลจะออกหมายจับเอาตัวมาขังไว้จนกว่าจะได้เบิกความก็ได้
5. เมื่อไปถึงศาลแล้ว จะต้องไปที่ใด และทำอย่างไร ?
เมื่อไปถึงศาลแล้วควรนำหมายเรียกไปสอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์หรือตรวจดูจากประกาศของศาลว่าคดีที่ต้องเบิกความเป็นพยานนั้น ศาลจะออกพิจารณา ณ ห้องพิจารณาที่เท่าใด พยานควรไปรออยู่ในห้องพิจารณานั้น เพื่อที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหรือเจ้าหน้าที่ศาลจะได้ทราบว่าพยานมาศาลแล้ว อย่ารออยู่หน้าห้องพิจารณา เพราะเจ้าหน้าที่อาจไม่ทราบและอาจเกิดผลเสียแก่คดีและตัวพยานเอง
พยานคนใดจะเบิกความก่อนหลัง สุดแล้วแต่ศาลหรือคู่ความฝ่ายที่อ้างผู้ที่ยังไม่ถึงวาระจะเบิกความต้องออกไปรออยู่นอกห้องพิจารณาหรือห้องพักสำหรับพยาน และห้ามไม่ให้พยานแอบฟังขณะพยานอื่นกำลังเบิกความอยู่
6. เมื่อถึงเวลาที่พยานจะต้องเบิกความ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ก่อนเบิกความ ?
พยานจะต้องปฏิญาณหรือสาบานตนโดยเจ้าหน้าที่ศาลจะเป็นผู้เรียกและนำพยานไปยังสถานที่สำหรับพยานเบิกความ (คอกพยาน) ก่อนเบิกความพยานจะต้องปฏิญาณหรือสาบานตนตามลัทธิศาสนาของตน เว้นแต่
1. บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี หรือผู้หย่อนความรู้สึกผิดชอบ
2. ภิกษุสามเณรในพุทธศาสนา
3. บุคคลที่คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องปฏิญาณหรือสาบานตน
7. ในคดีอาญา หากพยานเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี จะต้องทำอย่างไร ?
ในคดีอาญาที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ศาลจะจัดให้พยานอยู่ในห้องต่างหากจากห้องพิจารณาคดี และมีนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาร่วมอยู่ด้วย โดยจะมีการถามพยานเด็กผ่านนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยา
8. แล้วถ้าพยานเป็นคนหูหนวกเป็นใบ้ จะต้องทำอย่างไรดี ?
พยานที่เป็นคนหูหนวกหรือเป็นใบ้หรือทั้งหูหนวกและเป็นใบ้ไม่สามารถเบิกความด้วยวาจา จะเบิกความด้วยวิธีเขียนหนังสือ หรือเบิกความผ่านล่ามภาษามือ หรือด้วยวิธีอื่นใดที่เหมาะสม
9. หลังจากพยานปฏิญาณหรือสาบานตนแล้ว พยานจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?
ภายหลังจากปฏิญาณหรือสาบานตนแล้ว พยานจะต้องตอบคำถามของผู้พิพากษาเกี่ยวกับชื่อ อายุ ที่อยู่ และความเกี่ยวพันระหว่างพยานกับคู่ความ
ต่อจากนั้นคู่ความหรือทนายความฝ่ายที่อ้างพยานมาศาล จะซักถามเรื่องราวจากพยาน (ภาษากฎหมายเรียกว่าซักถาม)เมื่อฝ่ายที่อ้างพยานถามเสร็จแล้วคู่ความหรือทนายความอีกฝ่ายหนึ่งถามพยาน (ภาษากฎหมายเรียกว่าถามติง)ทั้งนี้คู่ความหรือทนายความอาจจะงดการถามค้านหรือถามติงเสียได้ถ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อคดี
10. คำถามซึ่งใช้ถามพยานจะเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องใด ?
กฎหมายห้ามคู่ความและทนายความไม่ว่าฝ่ายใดถามพยานด้วยคำถามที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี (เนื้อหาสาระที่จะเป็นข้อแพ้ชนะ) หรือคำถามที่อาจจะทำให้พยานหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกต้องรับโทษทางอาญาหรือคำถามที่เป็นการหมิ่นประมาท พยานมีสิทธิแถลงต่อศาลของดตอบคำถามทำนองดังกล่าวได้ การอนุญาตให้งดตอบคำถามหรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล
11. วิธีการเบิกความมีแบบใดบ้าง ?
ศาลอาจจะให้พยานเบิกความโดยวิธีเล่าเรื่อง ตามีที่พยานได้รู้ได้เห็นหรือได้ยินมา หรืออาจจะเบิกความโดยวิธีตอบคำถามของศาลหรือคู่ความหรือทนายความก็ได้
พยานควรเบิกความเฉพาะเท่าที่พยานได้รู้ได้เห็นหรือได้ยินมาโดยตรงเท่านั้น ไม่ต้องเบิกความตอบคำถามถึงเรื่องที่พยานได้รับการบอกเล่ามาจากผู้อื่น เว้นแต่กรณีมีคำสั่งให้พยานเบิกความถึงเรื่องที่ได้รับการบอกเล่า
พยานจะต้องเบิกความด้วยวาจา ห้ามพยานอ่านข้อความที่จดหรือเขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล เหตุการณ์ที่พยานไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้ให้ตอบคำถามไปตรง ๆ ว่าพยานไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้
ถ้าพยานฟังคำถามของคู่ความหรือทนายความไม่ชัดเจน พยานอาจจะร้องขอให้คู่ความหรือทนายความทวนคำถามเสียใหม่ได้
12. เมื่อพยานเบิกความเสร็จแล้ว จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?
เมื่อพยานเบิกความเสร็จพยานต้องรอฟังการอ่านคำพยานที่ศาลได้บันทึกไว้และต้องลงลายมือชื่อไว้ในคำพยานที่ศาลบันทึก หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือเมื่อศาลอ่านคำให้การของพยานที่บันทึกไว้ให้ฟังพยานจะต้องฟังว่าศาลบันทึกถูกต้องตรงกับที่ให้การไว้หรือไม่ หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง หรือขาดหายไปบางตอน จะต้องรับแถลงให้ศาลทราบทันที เพื่อให้ศาลแก้ไข
13. กรณีที่พยานมาศาลแต่มีการเลื่อนการสืบพยานไป พยานจะต้องทำอย่างไร ?
ในกรณีที่มีการเลื่อนสืบพยาน หากเจ้าหน้าที่ศาลให้พยานลงชื่อรับทราบวันเวลานัดครั้งต่อไปแล้ว ศาลจะไม่ออกหมายเรียกพยานไปอีก โดยถือว่าพยานได้ทราบวันเวลานัดของศาลแล้ว
14. เมื่อพยานเบิกความแล้วจะต้องได้ค่าตอบแทนอะไรบ้าง ?
พยานในคดีแพ่ง จะได้รับค่าพาหนะและค่าป่วยการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยศาลสั่งให้ฝ่ายที่อ้างพยานเป็น
ผู้จ่าย
พยานในคดีอาญา พยานพึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยศาลจะมีคำสั่งให้มีการจ่ายค่าตอบแทนเมื่อพยานได้เบิกความต่อศาลแล้ว
15. กรณีพยานเบิกความเท็จ จะมีผลอย่างไร ?
พยานผู้เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าเป็นการเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน
14,000 บาท
ที่มา สารสนเทศศาลจังหวัดกำแพงเพชร
